แหล่งท่องเที่ยว
1.ถ้ำภูผาเพชร
1.ถ้ำภูผาเพชร
ประเภทแหล่ง : ธรณีสัณฐาน
ที่อยู่ : บ้านภูผาเพชร หมู่ที่ 9 ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
ภายในถ้ำมีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ หรือ 20,000 ตารางเมตร มีทางเข้าบนหน้าผาสูงชันสูงกว่าพื้นราบเชิงเขาประมาณ 50 เมตร พื้นที่ด้านนอกได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่บริการนักท่องเที่ยว ประกอบด้วยลานจอดรถ ร้านจำหน่ายอาหารและของที่ระลึก ห้องสุขา และอาคารบริการนักท่องเที่ยว รวมถึงพื้นที่ป่าดั้งเดิมที่ยังคงสภาพป่าที่สมบูรณ์ ห่างจากอำเภอมะนังไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร
พื้นที่โดยรอบถ้ำภูผาเพชรเป็นพื้นที่ภูเขาสูงต่ำลดหลั่นไปในลักษณะของภูมิประเทศแบบคาสต์ในเขตป่าฝนเขตร้อน ที่มีผาหินปูนสูงชันตั้งและสายน้ำไหลเลียบไปตามหุบเขาแคบๆบ้างก็ตัดขวางแนวเทือกเขาคดโค้งไปมา ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจก่อให้เกิดธุรกิจล่องแก่งและที่พักรีสอร์ตที่อิงแอบสายน้ำและขุนเขาที่ห่างไกลจากชุมชน ขณะเดียวกันถ้ำภูผาเพชรยังมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นที่ช่องทางเข้าอยู่บนหน้าผาเป็นช่องเล็กๆแต่เมื่อได้เข้าไปแล้วกลับเป็นห้องโถงถ้ำอันกว้างใหญ่จนถือได้ว่าเป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่ประกอบไปด้วยห้องใหญ่น้อยประมาณ 20 ห้อง โดยแต่ละห้องมีหินงอกหินย้อยที่สวยงามอลังการเมื่อต้องแสงมีประกายแวววาวดั่งเพชรจนได้ฉายานามว่า “ถ้ำภูผาเพชร” นอกจากนี้ยังมีการค้นพบโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้อาศัยอิงแอบใช้ถ้ำแห่งนี้เป็นที่พักอาศัย แม้ว่าถ้ำภูผาเพชรจะตั้งอยู่ในหุบเขาที่ห่างไกลจากสังคมภายนอกแต่เมื่อได้รับการพัฒนาด้วยการสร้างถนนที่ได้มาตรฐานรวมถึงการจัดการพื้นที่โดยชุมชนท้องที่อย่างดีจนปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงของจังหวัดสตูล
พื้นที่ตั้งถ้ำภูผาเพชร เป็นเทือกเขาที่ประกอบด้วยหินปูนส่วนด้านบนของกลุ่มหินทุ่งสงยุคออร์โดวิเชียน (O2) เป็นหินปูนเนื้อปนดิน สีเทาดำ มีหินดินดานแทรกสลับ ชั้นหินบางถึงหนามีซากดึกดำบรรพ์หอยงวงช้าง แบรคิโอพอด หอยเจดีย์ พลับพลึงทะเล ปะการัง สาหร่าย ไทรโลไบต์ และฟองน้ำ โดยวางตัวอยู่บนหินทราย หินทรายแป้ง และหินดินดานกลุ่มหินตะรุเตายุคแคมเบรียนที่พบโผล่แผ่กระจายตัวบริเวณด้านเหนือขึ้นไปของพื้นที่ถ้ำภูผาเพชร ส่วนหินที่วางตัวอยู่ด้านบนโผล่ให้เห็นบริเวณด้านใต้ ประกอบด้วยหินโคลน เชิร์ต หินดินดาน หินทราย และหินทรายปนกรวด ยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน (SD) งานในสนาม (จากงานศึกษาที่มีมาก่อนและจากการสำรวจในพื้นที่)
ถ้ำภูผาเพชรเป็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่ในเทือกเขาบรรทัดประกอบด้วยหินปูนมีลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์มียอดเขาสูงๆต่ำๆ ด้านเหนือของเทือกเขาเป็นร่องเขาแคบๆมีสายน้ำของคลองลำโลนไหลจากด้านตะวันออกเฉียงเหนือไปทางด้านตะวันตกเฉียงใต้แล้วไหลหักลงใต้ผ่านแนวเทือกเขาเป็นร่องเขาลึกแคบๆไปทางใต้ของแนวเทือกเขา เทือกเขาที่เป็นที่อยู่ของถ้ำภูผาเพชรเป็นหน้าผาสูงชันและมียอดเขาสูงๆต่ำๆจุดที่สูงที่สุดประมาณ 300 เมตรจากพื้นที่ราบเชิงเขาที่มีระดับความสูงประมาณ 100 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง
ปากถ้ำอยู่สูงจากพื้นราบเชิงเขาประมาณ 50 เมตร ช่องทางเข้าถ้ำเป็นช่องโหว่ขนาดเล็กขนาดคนทั่วไปสามารถลอดเข้าไปได้แต่เมื่อลอดเข้าไปแล้วจะปรากฏเป็นถ้ำกว้างและสูงแบ่งออกเป็นห้องเล็กห้องน้อยขนาดต่างๆประมาณ 20 ห้อง มีเนื้อที่โดยรวมประมาณ 50 ไร่ หรือประมาณ 20,000 ตารางเมตร มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ห้องปะการัง ห้องเห็ด ห้องม่านเพชร ห้องพญานาค ห้องมรกต เป็นต้น ห้องถ้ำขนาดใหญ่อาจกว้างได้มากกว่า 80 เมตร และสูงได้ถึง 50 เมตร พื้นถ้ำบางบริเวณมีลักษณะสูงๆต่ำๆจนองค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนาได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยการสร้างสะพานทางเดินไม้ลัดเลอะไปตามซอกหินคดเคี้ยวไปมา บ้างก็เป็นลักษณะของบันไดขึ้นลงไปตามระดับพื้นถ้ำที่แตกต่างกัน บางบริเวณของพื้นถ้ำก็มีลักษณะเป็นพื้นราบกว้าง บริเวณผนัง เพดาน และพื้นถ้ำพบหินย้อยและหินงอกรูปร่างต่างๆและมีการเรียกชื่อไปตามลักษณะสัณฐานที่ปรากฏ บ้างก็มีลักษณะเป็นริ้วลายคดโค้งเรียงขนานกันไปอย่างงดงาม บ้างก็เป็นผลึกแร่แคลไซต์ที่เปล่งประกายยามต้องแสง บางบริเวณพบมีช่องหินได้ยินเสียงน้ำไหลก้องกังวาน แสดงให้ทราบว่าโพลงถ้ำมีมากกว่าหนึ่งระดับ ส่วนปลายถ้ำที่เรียกกันว่าถ้ำมรกตมีช่องโหว่กว้างทะลุสู่ภายนอกที่แสงสามารถลอดเข้ามาในถ้ำได้จนบนพื้นก้อนหินที่สัมผัสแสงมีปื้นสีเขียวของพืชหรือสาหร่ายสีเขียวดั่งสีของมรกต
บริเวณผนังถ้ำจะพบหินปูนมีลักษณะเป็นชั้นๆ เป็นชั้นหินปูนสีเทาเข้มปานกลางหนาประมาณ 5 ถึง 10 เซนติเมตร สลับด้วยชั้นสีเทาเข้มถึงสีดำหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตรจนถึงหนาเกือบ 1 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นชั้นโค้งตวัดไปมาเป็นริ้วขนานกันไปโดยทั่ว ชั้นหินปูนสีเทาเข้มปานกลางจะทำปฏิกิริยากับกรดเกลือเจือจาง ขณะที่ชั้นบางๆสีเทาเข้มถึงสีดำไม่ทำปฏิกิริยากับกรดเกลือจึงพบเป็นแถบสันนูนขึ้นมาขณะที่ชั้นหินปูนจะเว้าต่ำลงไปอย่างชัดเจน บางบริเวณที่มีความชื้นสูงชั้นบางๆสีเทาเข้มจะอ่อนนุ่มพองตัวอ้วนและเปื่อยแต่เมื่อแห้งจะแข็งเปราะ
บริเวณใกล้เคียงกับถ้ำภูผาเพชร ได้เดินสำรวจถ้ำคงคาลอด เป็นถ้ำขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร มีเพดานถ้ำสูงต่ำแตกต่างแปรผันกันไปแต่อยู่ในระดับที่สามารถเดินรอดไปได้ มีลักษณะยาวคดโค้งไปมาเป็นรูโพลงถ้ำจากตีนเขาด้านใต้ทะลุออกไปทางตีนเขาทางด้านเหนือ มีธารน้ำไหลจากด้านใต้ไปออกทางด้านเหนือของเทือกเขาไปไหลลงคลองลำโลน จากการสำรวจเบื้องต้นพบหินงอกหินย้อยที่พัฒนาในช่วงเริ่มแรก โดยเห็นหินย้อยเล็กๆเริ่มปรากฏเป็นแนวบริเวณร่องรอยแตกของหินปูนบริเวณเพดานถ้ำ มีค้างคาวอาศัยอยู่ทั่วไป และพบแมลงบางชนิดตามผนังถ้ำด้วย
นอกจากนี้ได้เดินทางไปองค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุจำนวน 3 ชิ้น รวมถึงเปลือกหอยเบี้ยและกระดูกสัตว์ ที่เป็นหลักฐานว่ามีมนุษย์สมัยโบราณนำเข้าไปใช้ในถ้ำ โดยโบราณวัตถุ 3 ชิ้นดังกล่าว เป็นภาชนะดินเผา ผลิตจากดินเหนียวเนื้อทรายหยาบของแร่ควอตซ์เนื้อใส มีคราบสีดำบริเวณก้นภาชนะแสดงถึงการนำไปใช้เป็นภาชนะหุงต้ม
ภาชนะชิ้นที่ 1 เป็นภาชนะดินเผารูปทรงกระบอกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 11.4 เซนติเมตร ที่ปากภาชนะบานออกคล้ายปีกหมวกทรงสูงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 21.3 เซนติเมตร ภาชนะสูง 14.7 เซนติเมตร ที่ก้นภาชนะมีลักษณะโค้งนูนออกเล็กน้อย
ภาชนะชิ้นที่ 2 เป็นภาชนะดินเผาหนาประมาณ 0.7 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายขันน้ำ แต่แตกหักบริเวณขอบทำให้ไม่ทราบความสูงที่แท้จริง โดยวัดความสูงได้ประมาณ 6.9 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18.1 เซนติเมตร บริเวณก้นภาชนะมีลักษณะโค้งออก มีการสร้างลวดลายเชือกทาบเป็นเส้นขีดขนานกันประมาณ 5 เส้นในระยะ 1 เซนติเมตร สร้างเป็นลายสลับไปมาทำมุมกันเป็นมุมแหลมไปโดยรอบขอบบริเวณก้นของภาชนะ
ภาชนะชิ้นที่ 3 เป็นภาชนะดินเผารูปทรงคล้ายภาชนะชิ้นที่ 1 ส่วนล่างเป็นรูปทรงกระบอกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร สูง 10.6 เซนติเมตร พื้นก้นภาชนะแบนราบ ปากภาชนะบานโค้งออก ขอบปากภาชนะเป็นรูปวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20.8 เซนติเมตร รวมความสูงของภาชนะ 13 เซนติเมตร
ภาชนะดินเผาเหล่านี้พบร่วมกับกระดูกมนุษย์ยุคโบราณและเปลือกหอยทะเล โดยในปี 2541 นักโบราณคดีของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 จังหวัดสงขลาโดยความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนาได้สันนิษฐานว่าบริเวณถ้ำภูผาเพชรเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว
2.ถ้ำเจ็ดคต
ประเภทแหล่ง : ธรณีสัณฐาน
ที่อยู่ : บ้านป่าพน หมู่ที่ 6 ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
ถ้ำเจ็ดคต เป็นถ้ำลอดมีธารน้ำไหลผ่านจากด้านตะวันออกไปออกด้านตะวันตกด้วยความยาวประมาณ 600 เมตร ถ้ำกว้าง 70-80 เมตร และมีความสูงของเพดานถ้ำประมาณ 40-50 เมตร พื้นที่ด้านตะวันออกมีลานจอดรถและสิ่งบริการอำนวยความสะดวกและเรือคายักล่องไปตามลำธารจนไปออกปากถ้ำด้านตะวันตกและบรรจบกับคลองละงู รวมมีพื้นที่พัฒนาทั้งสิ้นประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ปากถ้ำด้านน้ำไหลเข้าอยู่ห่างจากตัวอำเภอมะนังไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร
พื้นที่แหล่ง เป็นพื้นที่ภูเขาหินปูนมีลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ ลักษณะเป็นภูเขาสูงมีหน้าผาสูงชัน มีธารน้ำไหลไปตามหุบเขาแคบๆและพบถ้ำได้ทั่วไป ถ้ำเจ็ดคตเป็นถ้ำลอดมีปากถ้ำสองด้านทะลุหากันลักษณะคล้ายอุโมงค์ ความยาวของถ้ำประมาณ 600 เมตร กว้าง 70-80 เมตร และมีความสูงถึงเพดานถ้ำประมาณ 40-50 เมตร มีธารน้ำไหลผ่านโดยมีต้นน้ำเป็นคลองลำโลนไหลมาทางด้านตะวันออกผ่านถ้ำเจ็ดคตไปออกปากถ้ำด้านตะวันตกและไปบรรจบกับคลองละงูที่ไหลมาจากด้านเหนือลงไปทางทิศใต้บริเวณบ้านทับทุ่ง ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมล่องแก่งที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสตูล ถ้ำเจ็ดคตและพื้นที่โดยรอบจึงมีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาที่เป็นได้ทั้งแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาและนิเวศวิทยาของพื้นที่
กรมทรัพยากรธรณี (2556) รายงานว่า “ถ้ำเจ็ดคต” มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ถ้ำสัตคูหา” มีธารน้ำไหลผ่านเป็นระยะทางประมาณ 600 เมตร ผ่านถ้ำที่มีลักษณะต่างๆแบ่งออกได้เป็น 7 ช่วงหรือคูหา ได้แก่ คูหาที่ 1 เรียกว่า “สาวยิ้ม” ผนังถ้ำมีสีเขียวมรกต มีหินงอก หินย้อย อยู่หน้าถ้ำ คูหาที่ 2 เรียกว่า “นางคอย” มีหินงอก หินย้อยที่สวยงามและมีฝูงค้างคาวจำนวนมาก คูหาที่ 3 เรียกว่า “เพชรร่วง” ส่วนบนของผนังถ้ำมีช่องให้แสงอาทิตย์ส่องลอดลงมาได้ เมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบผนังถ้ำจึงเกิดประกายแวววาวเหมือนเพชร คูหาที่ 4 เรียกว่า “เจดีย์สามยอด” พื้นทางเดินเป็นหินลักษณะคล้ายดอกกุหลาบ คูหาที่ 5 เรียกว่า “น้ำทิพย์” ตามผนังถ้ำเป็นหินย้อยสีขาวและสีน้ำตาลซ้อนกันคล้ายผ้าม่าน คูหาที่ 6 เรียกว่า “ฉัตรทอง” มีหินงอก หินย้อย ซ้อนเหลื่อมกันเป็นชั้นเสมือนฉัตร และคูหาที่ 7 เรียกว่า “ส่องนภา” ภายในเป็นหินงอก หินย้อย รูปทรงคล้ายดอกบัวคว่ำ ทั้งนี้ หินปูนบริเวณถ้ำเจ็ดคตอยู่ในหมวดหินรังนก กลุ่มหินทุ่งสง ยุคออร์โดวิเชียน
พื้นที่บริเวณถ้ำคูคต มีลักษณะโดดเด่นด้วยลักษณะธรณีสัณฐานแบบคาสต์ เป็นพื้นที่ภูเขาหินปูนที่เป็นเทือกเขาสูงๆต่ำๆ มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันสลับกับพื้นที่หุบเขาและบ้างก็มีสายน้ำไหลผ่านคดเคี้ยวไปมา พื้นที่ด้านตะวันออกของเป็นพื้นที่ราบต่ำครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตรที่รายล้อมด้วยภูเขาหินปูนเกือบรอบพื้นที่ มีคลองลำโลนไหลมาจากด้านตะวันออก ผ่านพื้นที่ไปจนลอดถ้ำเจ็ดคต พื้นที่ดังกล่าวมีถนนลาดยางได้มาตรฐานไปจนถึงพื้นที่ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่บริการนักท่องเที่ยว ประกอบด้วย ลานจอดรถ โรงเรือนเก็บเรือคะยักและอุปกรณ์ และมีการตั้งป้ายข้อมูลต่างๆ จากพื้นที่ลานจอดรถมีบันไดสำหรับเดินลงไปที่ท่าเรือสำหรับล่องเรือไปตามลำธารอีกประมาณ 300 เมตรเพื่อพายเรือเข้าถ้ำต่อไป
ส่วนพื้นที่ด้านปากถ้ำซีกตะวันตกของถ้ำเจ็ดคต มีลักษณะเป็นหน้าผาหินปูนสูงชันและมีคลองละงูไหลผ่านจากเหนือลงไปทางใต้ โดยมีคลองลำโลนที่ไหลลอดถ้ำเจ็ดคตลงไปบรรจบกับคลองละงู คลองละงูเป็นลำธารกว้างไหลคดเคี้ยวไปมาเกิดแก่งน้ำเป็นช่วงๆที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปล่องแก่งจนเกิดธุรกิจบ้านพักรีสอร์ตจำนวนมากเรียงรายไปตามชายฝั่งคลองละงูด้านตะวันตก
3.น้ำตกวังใต้หนาน
ประเภทแหล่ง : นิเวศวิทยา
ที่อยู่ : หน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชร ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
เป็นส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด มีขนาดเนื้อที่ประมาณ 1.5 ตารางกิโลเมตร ขอบเขตด้านเหนือสุดอยู่บริเวณวังกลอย ขอบเขตด้านใต้สุดเป็นสำนักงานหน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชร ความกว้างของพื้นที่ประมาณ 1 กิโลเมตรในแนวตะวันตก-ตะวันออก และความยาวของพื้นที่ประมาณ 1.5 กิโลเมตรในแนวเหนือ-ใต้ อยู่ห่างจากอำเภอมะนังเป็นระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตร
เป็นพื้นที่ภูเขาปกคลุมด้วยผืนป่าฝนเขตร้อน ที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำมีคลองลำโลนไหลผ่านต่อเนื่องลงไปตามร่องเขาเหนือถ้ำภูผาเพชรไปบรรจบกับคลองมะนัง เป็นพื้นที่ที่ยังคงไว้ด้วยธรรมชาติดั้งเดิม มีภูเขาหินปูนลูกโดดๆขนาดย่อมอยู่ภายใต้ร่มไม้สูงใหญ่ และบ้างก็โผล่ให้เห็นตามลำธาร อีกทั้งมีหินทรายและหินแกรนิตในบางพื้นที่ พื้นที่ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ บางต้นสูงมากกว่า 50 เมตรและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 เมตร นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ยังคงทิ้งร่องรอยของฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และปัจจุบันก็ยังคงพบร่องรอยของมนุษย์เผ่าเซมังซึ่งเป็นมนุษย์ที่ยังคงใช้วิถีชีวิตที่อิงแอบคู่กับธรรมชาติดั้งเดิมไว้ได้
พื้นที่แหล่งตั้งอยู่บริเวณร่องหุบเขาที่ยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้ มีระดับความสูงเหนือระดับทะเลระหว่าง 100-120 เมตร มีคลองลำโลนไหลมาจากทางทิศเหนือจนถึงพื้นที่จึงไหลเบนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปตามร่องเขาทางด้านเหนือของเทือกเขาหินปูนที่เป็นที่ตั้งของถ้ำภูผาเพชร คลองลำโลนมีทางน้ำสาขาหลายสาย ส่วนใหญ่ไหลมาจากทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นแนวเทือกเขาสูงที่มีความสูงมากกว่า 600 เมตร จากแผนที่ธรณีวิทยาจังหวัดพัทลุง (2550) กล่าวได้ว่าด้านตะวันออกของคลองลำโลนจนห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตรซึ่งมีระดับความสูงของพื้นที่ระหว่าง 100-300 เมตรเป็นพื้นที่หินปูนยุคออร์โดวิเชียน และที่ห่างออกไปอีกเป็นแนวเทือกเขาสูงระหว่าง 300 เมตรจนถึงมากกว่า 600 เมตร เป็นเทือกเขาหินแกรนิตยุคไทรแอสซิก ส่วนพื้นที่ด้านตะวันตกของคลองลำโลนนั้นมีหินทรายยุคแคมเบรียนโผล่ให้เห็น ดังนั้น คลองลำโลนจึงเป็นทางน้ำที่ไหลไปตามแนวรอยสัมผัสระหว่างสองหมวดหิน
จากหน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชร ได้เดินลัดเลาะไปในป่า มุ่งหน้าไปตามแนวทิศประมาณตะวันตกเฉียงเหนือจนถึงคลองลำโลนส่วนที่อยู่ทางด้านใต้ของต้นทองบึ้ง โดยได้เดินผ่านพื้นที่หินปูนยุคออร์โดวิเชียนที่แสดงลักษณะเป็นชั้นหินบาง ชั้นหินมีการวางตัวเอียงเทไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หินปูนปรากฏเป็นรูปหอคอยเสาหินสูงขนาดย่อมเป็นลูกโดดๆกระจัดกระจายห่างๆ เมื่อเดินข้ามคลองลำโลนไปทางทิศเหนือ ผ่านต้นทองบึ้ง พบหลักฐานมนุษย์เผ่าเซมัง และร่องรอยหลักฐานของฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต บางบริเวณพบหินโผล่ของหินทรายยุคแคมเบรียน จนถึงวังกลอยที่คลองลำโลนไหลผ่าน มีลักษณะเป็นโขดหินปูนมีน้ำไหลผ่านเป็นแก่งเล็กๆ เมื่อข้ามคลองลำโลนไป พบหินโผล่ของหินปูนลักษณะแบบเดียวกับที่ผ่านมา บ้างก็มีหินโผล่ของหินแกรนิตบริเวณลำธารเล็กๆ จนกลับไปที่หน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชรอีกครั้ง ทั้งนี้ตลอดเส้นทางการเดินป่า ได้ผ่านป่าทึบที่มีต้นไม้สูงใหญ่ตลอดเส้นทาง
ผืนป่าที่เดินผ่าน ในเบื้องต้นพบต้นไม้สูงใหญ่หลากหลายชนิด เช่น ต้นโล่ตง ทองบึ้ง ไคร้ย้อย จิกน้ำ ยางนา สะตอ เต่าร้าง ขานาง กระเบา หลุมพอ ตะเคียนราก หาน ยวน เพรียง ตะเคียนทราย กฤษณา ไอกลิ้ง บกหยวก เหยื่อจง ขนุนป่า สไน และ มะเดื่อ เป็นต้น พื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของหมี เม่น ลิง ค่าง ชะนี เสือ ชะมด กระรอก กวาง เก้ง เลียงผา สมเสร็จ กระจง หมู ไก่ป่า หมูดิน หมีควาย และงูหลากหลายชนิด
4.ลานหินป่าพน
ประเภทแหล่ง : หินแบบฉบับ
ที่อยู่ : โรงเรียนบ้านป่าพน หมู่ 6 ตำบลบ้านป่าพน อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
เป็นพื้นที่สวนหย่อมในเขตโรงเรียนบ้านป่าพน ด้านเหนือและ ด้านตะวันตกจรดพื้นที่เนินเขาเตี้ยๆ ด้านตะวันออกจรดสนามเด็กเล่นและอาคารเรียนถัดออกไป และด้านทิศใต้จรดสนามฟุตบอล มีขนาดพื้นที่ประมาณ 40x40 ตารางเมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอมะนังไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร
พื้นที่แหล่งมีลักษณะเป็นสวนหย่อมประกอบไปด้วยก้อนหินที่มีการจัดวางที่ยังคงรักษาตำแหน่งดั้งเดิมตามธรรมชาติเอาไว้ได้ มีการจัดภูมิทัศน์เพื่อเพิ่มความสวยงาม ที่รวมถึงการจัดทำทางเดินเท้าแบบเส้นทางเดินคอนกรีตแคบๆกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยังมีการจัดสร้างสระน้ำจำลองอยู่ทางใต้ของแหล่ง และมีการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความร่มรื่นด้วย ก้อนหินเป็นหินปูนแสดงชั้นชัดเจนที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวทางธรณีวิทยาได้ ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่อยู่ในสถานศึกษาที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ผสมผสานกับการใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในโรงเรียนและชุมชน
ก้อนหินที่โผล่ให้เห็น เป็นหินปูนที่มีลักษณะเป็นชั้น แต่เนื่องจากมีการวางตัวหลายทิศทางจนไม่อาจมั่นใจได้ว่าก้อนใดเป็นหินโผล่และก้อนใดเป็นหินลอย ชั้นหินทางด้านล่างหนาประมาณ 30-45 เซนติเมตร และมีความบางลงขึ้นไปทางด้านบนเหลือมีความหนาระหว่าง 10-15 เซนติเมตร ชั้นหินปูนแต่ละชั้นแสดงโครงสร้างของสโตรมาโตไลต์อย่างชัดเจน โดยกล่าวได้ว่าเป็นหินปูนยุคออร์โดวิเชียน
5.สวนหินภูผาเพชร
ประเภทแหล่ง : หินแบบฉบับ
ที่อยู่ : บ้านภูผาเพชร หมู่ที่ 9 ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
พื้นที่แหล่งติดด้านตะวันออกของพื้นที่บริการถ้ำภูผาเพชร เป็นพื้นที่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดได้กันให้เป็นที่พักสงฆ์ ตามโครงการส่งเสริมให้ที่พักสงฆ์ถ้ำภูผาเพชรช่วยงานด้านป่าไม้ จำนวนพื้นที่ 30 ไร่ 3 ตารางวา อยู่ห่างจากอำเภอมะนังไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร
เป็นพื้นที่ราบอยู่เชิงเขาต่อเนื่องกับพื้นที่บริการของถ้ำภูผาเพชรไปทางด้านทิศตะวันออก อยู่ทางด้านใต้ของลำธารที่ไหลไปทางทิศตะวันตกไปลอดถ้ำศิลาลอด มีหินโผล่และหินลอยของหินปูนโผล่เป็นหย่อมๆเล็กบ้างใหญ่บ้างกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ พบโครงสร้างชั้นเฉียงระดับในเนื้อหินปูนซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นเฉพาะตัว พื้นที่แหล่งติดกับถ้ำภูผาเพชรซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสตูล ผนวกกับพื้นที่แหล่งเป็นที่พักสงฆ์มักมีนักท่องเที่ยวไปกราบมนัสการพระสงฆ์อยู่เนืองๆ จึงถือเป็นพื้นที่ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้
พื้นที่แหล่ง เป็นพื้นที่ราบต่อเนื่องมาจากพื้นที่บริการของถ้ำภูผาเพชรทางด้านตะวันออก มีหินโผล่และหินลอย โผล่กระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ในลักษณะคล้ายสวนหิน มีร่มไม้ใหญ่น้อยปกคลุมให้ความร่มรื่น และมีลำธารน้ำไหลผ่านทางด้านเหนือของพื้นที่ไหลไปทางทิศตะวันตกเรียบเชิงเขาที่ทอดยาวอยู่ทางด้านเหนือ หินโผล่เป็นหินปูนที่มีลักษณะเป็นชั้นบาง บางบริเวณแสดงลักษณะโครงสร้างชั้นเฉียงระดับ ลักษณะหินดังกล่าวมีลักษณะคล้ายหินปูนของหมวดหินลาง่า แต่ยังคงมีความจำเป็นต้องสำรวจวิจัยในรายละเอียดเพิ่มเติม
6.สำนักสงฆ์ถ้ำระฆังทอง
ประเภทแหล่ง : ธรณีสัณฐาน
ที่อยู่ : สำนักสงฆ์ถ้ำระฆังทอง หมู่ 5 ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
สำนักสงฆ์ถ้ำระฆังทอง อยู่ทางด้านตะวันตกของภูเขาลูกโดดๆขนาดเล็กขนาดประมาณ 150x300 เมตร มียอดสูงประมาณ 110 เมตรจากระดับทะเล เป็นภูเขาหินปูนด้านบนมีถ้ำเรียกว่า “ถ้ำระฆังทอง” ด้านล่างเป็นหลืบถ้ำเว้าลึกเข้าไปเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์ ด้านหน้าสำนักสงฆ์เป็นสวนป่าธรรมชาติขนาดเล็ก ขนาดพื้นที่ประมาณ 65 ไร่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอมะนังไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
วัดถ้ำระฆังทอง เป็นเพียงสำนักสงฆ์ อาศัยถ้ำซึ่งเป็นหลืบเว้าลึกเข้าไปบริเวณตีนเขาทางด้านตะวันตกของภูเขาซึ่งมีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน เป็นหินปูนเป็นชั้นบาง พบซากดึกดำบรรพ์ มีโครงสร้างรอยเลื่อน และโครงสร้างโค้งงอให้เห็นชัดเจน บริเวณด้านหน้าของถ้ำซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์เป็นสวนป่าธรรมชาติขนาดเล็ก ร่มรื่น เหมาะแก่การศึกษาฟังธรรมและศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยา
พื้นที่สำนักสงฆ์เป็นภูเขาหินปูนยุคออร์โดวิเชียน หินปูนมีลักษณะเป็นชั้นบางชัดเจน มีการวางตัวไปทางทิศประมาณตะวันออกเฉียงใต้ด้วยมุมเอียงเทประมาณ 23 องศา มีระนาบรอยเลื่อนวางตัวเอียงเทไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ด้วยมุมเอียงเทประมาณ 70 องศา อย่างไรก็ตามชั้นหินมีการโค้งงอเป็นรูปประทุนมีแกนของการโค้งงอก้ม (plunge) เข้าไปในถ้ำ พบนอติลอยด์อยู่ในเนื้อหินปูนด้วย พื้นที่ด้านหน้าถ้ำซึ่งเป็นสำนักสงฆ์เป็นลานกว้างมีต้นไม้สูงใหญ่เป็นร่มเงาด้วยพื้นที่ประมาณ 65 ไร่ มีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาร่วมทำบุญและบำเพ็ญศีลภาวนา
อ้างอิงhttp://www.khoratfossil.org/geopark/contents
น่าสนใจมาก
ตอบลบข้อมูลแน่นมากเลยค่ะ
ตอบลบน่าไปจัง
ตอบลบเคยไปแล้ว สนุกมากๆเลยครับ
ตอบลบ