ระบบนิเวศ









ทะเล
ใต้ทะเล จนถึงป่าชายเลน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12.37 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด และวัดความบริสุทธิ์ของธรรมชาติด้วยแหล่งหญ้าทะเลซึ่งมีฝูงพะยูนเข้ามาวนเวียนหากิน ความโดดเด่นของแนวชายฝั่งอีกอย่างคือ เป็นแหล่งหอยปูที่หลากหลาย ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ หอยตะเภา (ส่งต่างประเทศกิโลกรัมละ 2-3 พันบาท) และ ”ปูทหารปากบารา” ปูสายพันธุ์ใหม่ของโลกซึ่งถูกค้นพบที่นี่
ทะเลสตูล แบ่งเป็นสองระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันอย่างน่าตื่นใจ ทะเลด้านนอก คือ “หมู่เกาะตะรุเตาและบริวาร” ซึ่งเรียงตัวเป็นกำแพงธรรมชาติรายล้อมเวิ้งอ่าวไปจนจรดน่านน้ำมาเลเซีย ในปี พ.ศ.2525 อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) ส่วนนิเวศทะเลด้านใน คือ “หมู่เกาะเภตราและชายฝั่งใกล้เคียง” ซึ่งรวมถึงบริเวณเวิ้งอ่าวปากบาราที่ตั้งของท่าเรือท่องเที่ยว กับหมู่เกาะเภตราซึ่งมีเกาะน้อยใหญ่กระจายตั้งแต่เขตอำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ไปจนจรดอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ยังมีแหล่งโบราณคดีที่ขุดพบซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ มากมาย รวมทั้งช้างโบราณสเตโกดอน และฟอสซิลสัตว์น้ำหรือพืชดึกดำบรรพ์ในถ้ำต่างๆ ที่กำลังพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ นักมานุษยวิทยาพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐาน จากกลุ่มชนเร่ร่อนทั้งชาวเลและชาวป่าจนตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชน ซึ่งปัจจุบัน แม้ผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังมีประเพณีการละเล่นต่างๆ และการเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่ระหว่างกลุ่มและเกาะดังเช่นครั้งโบราณกาล
และแม้ท้องทะเลยังอุดมสมบูรณ์ แต่ชาวบ้านที่นี่ก็พยายามรักษาสมดุลธรรมชาติ เพื่อการทำมาหากินอย่างยั่งยืน เป็นต้นว่า ตั้งกฎระเบียบห้ามใช้ตะแกรงตะกร้ากวาดหาหอยบนหาดทราย ให้ใช้ช้อนขุดเฉพาะตัวที่เติบโตได้ขนาดแล้ว หรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ คอยสอดส่องป้องกันเรืออวนลากอวนรุนที่ล่วงล้ำเข้ามา
แม้รัฐจะขยับตัวช้าและยังคงวัดผลสำเร็จของการท่องเที่ยวด้วยปริมาณมากกว่าคุณภาพ กลุ่มคนในท้องถิ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวก็พยายามประคับประคอง ดูแลรักษาเกาะและหาดต่างๆ ให้เป็นสวรรค์อันดามันอย่างยั่งยืน ที่น่าทึ่งก็คือกลุ่ม Reef Guardian ซึ่งเป็นไกด์ท่องเที่ยวทางเรือและไกด์ดำน้ำดูปะการัง รวมตัวกันเป็นอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม คอยดูแลลูกทัวร์ให้ดำน้ำดูปะการังโดยไม่แตะต้องทำลาย ห้ามปรามการหยิบหินหรือเปลือกหอยกลับบ้าน หรือการโปรยเศษขนมปังให้ปลาการ์ตูน ซึ่งจะทำให้สัตว์ทะเลเปลี่ยนพฤติกรรมและเกิดผลร้ายตามมา ในยามว่างเว้นจากงานก็จัดกิจกรรมเก็บขยะ ผูกทุ่น ติดสติกเกอร์ข้อห้ามต่างๆ ในเรือท่องเที่ยว ช่วยเก็บบันทึกภาพใต้น้ำเพื่อการศึกษาวิจัย และเป็นวิทยากรบรรยายตามสถานศึกษาต่างๆ ฯลฯ

ท่าเทียบเรือบ้านท่าอ้อย
ประเภทแหล่ง : นิเวศวิทยา
ที่อยู่ : บ้านท่าอ้อย ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล




พื้นที่แหล่งเป็นท่าเทียบเรือประมง อยู่ริมคลองที่ไหลลงทะเลโดยห่างจากปากน้ำเป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร มีขนาดยาวตามริมคลองประมาณ 300 เมตร กว้างประมาณ 50 เมตร อยู่ห่างจากอำเภอทุ่งหว้าไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

ท่าเทียบเรือบ้านท่าอ้อย เป็นท่าเทียบเรือประมง ที่ได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีสนามเด็กเล่น อาคารริมน้ำเพื่อการชมทิวทัศน์ รายล้อมด้วยป่าชายเลนที่สมบูรณ์ และยังเป็นท่าเทียบเรือสำหรับนักท่องเที่ยวที่พายเรือลอดถ้ำเลสเตโกดอน


ท่าเทียบเรือบ้านท่าอ้อย เป็นอาคารริมน้ำที่ติดตั้งโป๊ะเทียบเรือ ถัดไปทางตะวันตกเป็นถนนเลียบลำคลองเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีศาลาริมน้ำสำหรับนั่งพักผ่อน 7 หลัง มีห้องสุขาแยกสุขาชายและสุขาหญิง ด้านใต้ลงมาเป็นสนามเด็กเล่นที่ติดกับป่าชายเลน มีลำคลองไหลผ่านป่าที่สามารถพายเรือชมป่าชายเลนได้หรืออาจพัฒนาสะพานเดินเท้าชมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนก็ได้ บางช่วงเวลาก็มีชาวประมงนำสินค้าทางประมงมาวางจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว

ล่องแก่งวังสายทอง
ประเภทแหล่ง : นิเวศวิทยา
ที่อยู่ : บ้านทับทุ่ง ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล





พื้นที่แหล่งเป็นพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำละงูที่ไหลจากเหนือลงใต้คดโค้งไปมาอยู่ในหุบเขาแคบๆ บางช่วงชายฝี่งแม่น้ำมีลักษณะเป็นผาหินปูนสูงชัน สายน้ำที่มีผู้คนนิยมมาล่องแก่งเป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร และรวมพื้นที่แหล่งประมาณ 3.5 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอมะนังไปทางเหนือเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร


แหล่งอยู่ในหุบเขาแคบๆในแนวเหนือใต้ที่มีแม่น้ำละงูไหลผ่านจากด้านเหนือลงไปทางทิศใต้ ทางน้ำมีความลาดชันที่เหมาะสมและมีน้ำใสไหลไปตามพื้นท้องน้ำที่เป็นกรวด บางช่วงเป็นแก่งเล็กๆเตี้ยๆ โดยสายน้ำไหลคดโค้งไปมา บ้างก็ผ่านโตรกผาสูงชัน ภายใต้ร่มไม้น้อยใหญ่หลากหลายสายพันธุ์ของป่าฝนเขตร้อน มีคลองลำโลนไหลมาจากทางด้านตะวันออกผ่านช่องอุโมงค์ถ้ำเจ็ดคตที่ยาวประมาณ 600 เมตรไปบรรจบกับแม่น้ำละงู ถือเป็นแหล่งที่งดงามแปลกตาด้วยลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ จนก่อให้เกิดธุรกิจล่องแก่งและมีธุรกิจที่พักรีสอร์ตและร้านอาหารตามมาที่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนท้องที่จากนักท่องเที่ยว อยู่ภายใต้การหลีกเลี่ยงการทำลายธรรมชาติและนิเวศวิทยาของพื้นที่

พื้นที่แหล่งสังเกตเห็นความแตกต่างทางธรณีวิทยาได้อย่างชัดเจน โดยพื้นที่ตอนเหนือมีหินทรายสีน้ำตาลแดงยุคแคมเบรียนโผล่ตั้งแต่พื้นท้องน้ำ ริมฝั่งแม่น้ำ ต่อเนื่องขึ้นไปจนเป็นภูเขาสูง หินทรายแสดงความเป็นชั้นอย่างชัดเจนและบางบริเวณแสดงลักษณะโครงสร้างชั้นเฉียงระดับด้วย แม้จะไม่พบหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์แต่ก็ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นหินทรายยุคแคมเบรียน โดยหินทรายดังกล่าวถูกปิดทับด้วยหินปูนเป็นชั้นบางที่เป็นลักษณะของหินปูนยุคออร์โดวิเชียน โดยพื้นที่หินปูนนี้อยู่ทางตอนใต้ของแหล่งที่แสดงลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ เช่น หน้าผาสูงชัน ถ้ำ ธารลอด และยอดเขาที่มีลักษณะตะปุ่มตะปั่มรวมถึงหอคอยหินปูนสูงชัน เป็นต้นฃ

อ้างอิง http://www.khoratfossil.org/geopark/home

5 ความคิดเห็น: