พื้นที่จังหวัดสตูลประกอบด้วยหินหลายประเภททั้งหินตะกอนชนิดต่างๆ และอัคนีอีกทั้ง
มีลักษณะภูมิประเทศที่มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ภูเขาสูง ที่ราบ หาดทราย และเกาะ ทั้งนี้เป็นผลจาก
กระบวนการทางธรณีวิทยาหลายกระบวนผ่านระยะเวลาหลายร้อยล้านปีไม่ว่าจะเป็นการวิวัฒนาการทาง
เทคโทนิค การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของการสะสมตะกอน การยกตัวของชั้นหิน และลักษณะทาง
กายภาพของชั้นหินที่แตกต่างกัน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวตามหลักฐานทางธรณีวิทยาที่พบในพื้นที่จังหวัด
สตูล เริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคแคมเบรียน (ประมาณ 542 ล้านปีก่อน) จนถึงปัจจุบัน โดยมีหลักฐานแสดงถึงการเคย
เป็นทะเลน้ําตื้น ทะเลลึก มีการแทรกดันของหินอัคนีจนกระทั่งการยกตัวของพื้นทะเลจนกลายเป็นแผ่นดิน
และการกัดกร่อนและพังทลายของชั้นดินและหิน กระบวนการเหล่านี้ส่งผลให้เกิดพื้นที่จังหวัดสตูล
ประกอบด้วย หินตะกอน ซากดึกดําบรรพ์ที่หลากหลาย และหินอัคนี โดยรายละเอียดของหน่วยหินจาก
อายุมากไปหาอายุน้อย
ควนเปลือกหอย
ประเภทแหล่ง : ซากดึกดำบรรพ์
ที่อยู่ : บ้านปีใหญ่ หมู่ 5 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล
เป็นพื้นที่เนินต่อเนื่องจากพื้นที่สวนยางพาราของนายเสนอ แซ่ตัน เป็นแหลมเล็กๆยื่นลงไปทางทิศใต้เข้าไปในเขตพื้นที่ป่าชายเลน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30x20 ตารางเมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอละงูไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
พื้นที่แหล่ง เป็นติ่งเนินเล็กๆต่อเนื่องมาจากพื้นที่สวนยางพารายื่นออกไปทางทิศใต้ล้ำเข้าไปในเขตป่าชายเลน มีซากเปลือกหอยสะสมตัวอย่างหนาแน่นเป็นชั้นหนามากกว่า 7 เมตรครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30x20 ตารางเมตร ทั้งนี้เป็นแหล่งสะสมตัวของซากเปลือกหอยที่ยังขาดข้อมูลศึกษาวิจัยถึงกระบวนการเกิด สมควรสงวนรักษาไว้และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้/แหล่งท่องเที่ยว
พื้นที่แหล่ง เป็นแหล่งสะสมตัวของเปลือกหอย มีลักษณะเป็นเนินต่อเนื่องมาจากพื้นที่สวนยางพาราซึ่งเป็นพื้นที่บกต่อเนื่องมาจากพื้นที่ภูเขาโต๊ะดูซึ่งเป็นภูเขาลูกเล็กๆมียอดสูงสุด 193 เมตรจากระดับทะเล ทั้งนี้ยังไม่มีการสำรวจและตรวจพิสูจน์ชนิดหินของภูเขาลูกนี้ แต่พื้นที่ระหว่างภูเขากับพื้นที่ควนเปลือกหอยพบบ่อหินที่มีการตักนำหินไปเป็นวัสดุก่อสร้าง เป็นชั้นหินโคลน หินดินดานสลับชั้นหินทรายมีลักษณะคล้ายกับหินที่พบที่บ้านควนดินสอ อำเภอทุ่งหว้า เปลือกหอยที่พบมีอย่างน้อย 3 ชนิด ได้แก่ หอยปะ หอยแครง และหอยนางรม ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่เป็นหอยปะ หอยทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวล้วนเป็นหอยสองฝาที่สะสมตัวกันอย่างหนาแน่น มีทั้งที่ฝาหอยทั้งสองประกบกันอยู่และที่หลุดแยกออกจากกัน โดยมีการพบก้อนหินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตรปะปนอยู่ด้วยปะปราย บางบริเวณพบลักษณะเป็นชั้นหอยซ้อนกันอยู่ที่ถูกคั่นด้วยชั้นดินโคลน ทั้งนี้พบว่ากองหอยมีร่องรอยถูกขุด โดยได้รับการบอกเล่าว่า เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน มีการขุดเอาเปลือกหอยไปทำปูนขาว แต่ถูกทางราชการได้สั่งระงับไว้
หอยปะ หรือ Venus shell มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Meretrix lusoria วงศ์ Veneridae เป็นหอยสองฝาลักษณะรูปร่างสามเหลี่ยม ตรงกลางนูนออก มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆแตกต่างกันออกไป เช่น หอยหวาน หอยกระปุก หอยตลับ และหอยตลับลาย เป็นต้น เป็นหอยที่อาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่มีพื้นเป็นทรายหรือโคลนปนทรายโดยฝังตัวอยู่ใต้พื้นทรายที่ความลึกจากผิวดินประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีกล้ามเนื้อเท้าที่แข็งแรงใช้ในการขุดแทรกตัวลงไปในทรายและมีท่อน้ำยาวยื่นขึ้นมาเหนือพื้นเพื่อรับอาหารและปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ อาหารเป็นพวกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก แพลงค์ตอนและอินทรีย์สาร หอยปะสามารถเคลื่อนที่เพื่อไปอยู่อาศัยยังบริเวณอื่นที่สภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของมันได้โดยการเปิด-ปิดฝาเพื่อให้เกิดแรงดันน้ำพาตัวหอยเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้
ชายฝั่งทะเลโบราณเขาทะนาน
ประเภทแหล่ง : ธรณีสัณฐาน
ที่อยู่ : บ้านทุ่งทะนาน ตำบลทุ่งบุหลัง อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
เป็นภูเขาหินปูนลูกโดดๆสูงเป็นหอคอยอยู่ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ มีหนองน้ำอยู่ทางด้านเหนือและด้านตะวันตก ด้านใต้เป็นสวนสาธารณะ มีถนนคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 4 เมตรล้อมรอบ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ อยู่ห่างจากอำเภอทุ่งหว้า เป็นระยะทางประมาณ 14 กม.
เป็นเขาหินปูนลูกโดดๆขนาดเล็กเป็นหน้าผาชัน เป็นลักษณะของภูมิประเทศแบบคาสต์ พบถ้ำทะเล และร่องบากลักษณะเว้าทะเลที่อาจแสดงว่าระดับทะเลเคยท่วมถึง มีลักษณะเป็นหินปูนชั้นหนามาก สีเทาจาง มีซากดึกดำบรรพ์หอยสองฝา แบรคิโอพอด ไบรโอซัว ปะการัง ฟองน้ำ หอยกาบเดี่ยว แกนของไบรโอซัว พลับพลึงทะเล และสโตรมาโตโฟรอยด์ พบเศษตะกอนเป็นผลึกตกเข้าไปในช่องว่าง เนื้อใสขาวเชื่อมตะกอนและเศษตะกอนแตกหัก เกิดสะสมตัวในทะเลตื้น อาจเป็นลักษณะของพืดปะการัง (coral reef) นอกจากนี้ยังพบว่าชั้นหินมีการโค้งงออย่างน้อยสองทิศทาง
ซากดึกดำบรรพ์บ้านตะโล๊ะไส
ประเภทแหล่ง : ซากดึกดำบรรพ์
ที่อยู่ : บ้านตะโล๊ะไส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล แหล่งอยู่ห่างจากเหมืองหินร้างแห่งที่ 1 ประมาณ 100 เมตร อยู่ห่างจากถนนสายอำเภอละงู-ท่าเทียบเรือปากบาราขึ้นไปทางตอนเหนือประมาณ 1.1 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ประมาณ 50x50 ตารางเมตร ห่างจากอำเภอละงูเป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร
เป็นพื้นที่เหมืองหินร้างมีหินโผล่และพบซากดึกดำบรรพ์ที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นหมวดหินป่าเสม็ดที่สามารถใช้ศึกษาเปรียบเทียบกับหมวดหินแบบฉบับที่ควนทังได้ แม้จะอยู่บริเวณที่เข้าถึงได้ไม่สะดวกนัก แต่ก็อยู่ห่างจากถนนสายหลักเพียง 1 กิโลเมตร หินโผล่เป็นหินดินดานสีดำสลับหินทรายเนื้อปูน พบแบรคิโอพอด สกุล Spirifer และไบรโอซัว กล่าวได้ว่าหินดังกล่าวเป็นส่วนบนของหมวดหินป่าเสม็ด
ซากดึกดำบรรพ์โต๊ะสามยอด
ประเภทแหล่ง : ซากดึกดำบรรพ์
ที่อยู่ : ศาลทวดโต๊ะสามยอด ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
เป็นภูเขาหินปูนลูกโดดๆขนาดเล็ก ติดถนนสายบ้านสะพานวา-บ้านป่าแก่ อยู่ห่างจากสามแยกบ้านสะพานวาไปทางบ้านป่าแก่ประมาณ 3 กิโลเมตร มีศาลทวดโต๊ะสามยอดตั้งอยู่เชิงเขา ขนาดพื้นที่แหล่งประมาณ 30 x 40 ตารางเมตร ห่างจากอำเภอทุ่งหว้าไปทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร
หินปูนในแหล่งมีลักษณะมีการสลับชั้นระหว่างชั้นที่เป็นหินปูนกับชั้นที่เป็นหินปูนเนื้อโคลน (argillaceous limestone) และมีลักษณะที่แสดงว่าถูกบีบอัดจนชั้นหินปูนขาดออกจากกันเป็นก้อนทรงมน (nodular limestone) ด้านตัดขวางกับชั้นหินสังเกตเห็นซากเปลือกหอยกาบคู่ (bivalve) ที่ฝาหอยทั้งหมดคว่ำลง และพบนอติลอยด์ตัวใหญ่ในชั้นหินด้วย การคว่ำลงของเปลือกหอยกาบคู่ทำให้เข้าใจได้ว่าหินปูนนี้เกิดการสะสมตัวบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีอิทธิพลของคลื่นซัดเข้าหาฝั่งทำให้เปลือกหอยส่วนใหญ่พลิกคว่ำลงบนพื้น ลักษณะหินปูนดังกล่าว เป็นลักษณะของหินปูนในหมวดหินตะโล๊ะดังหรือหมวดหินแลตอง
อ้างอิง http://www.dmr.go.th/download/digest/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95_%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B9%E0%B8%A5.pdf
อ้างอิง
http://www.khoratfossil.org/geopark/home
อ้างอิง
http://www.khoratfossil.org/geopark/home
ข้อมูลดีมากๆเลยค่ะ
ตอบลบสตูลมีสถานที่น่าเที่ยวเยอะเลย ขอบคุณสำหรับเนื้อหานะคะ
ตอบลบความรู้แน่นมากเลยค่ะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ
ตอบลบเนื้อหาดีครับ
ตอบลบข้อมูลดีมากเลย
ตอบลบ