อำเภอละงู

แหล่งท่องเที่ยว


1.ควนเปลือกหอย
ประเภทแหล่ง : ซากดึกดำบรรพ์
ที่อยู่ : บ้านปีใหญ่ หมู่ 5 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล
เป็นพื้นที่เนินต่อเนื่องจากพื้นที่สวนยางพาราของนายเสนอ แซ่ตัน เป็นแหลมเล็กๆยื่นลงไปทางทิศใต้เข้าไปในเขตพื้นที่ป่าชายเลน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30x20 ตารางเมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอละงูไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

พื้นที่แหล่ง เป็นติ่งเนินเล็กๆต่อเนื่องมาจากพื้นที่สวนยางพารายื่นออกไปทางทิศใต้ล้ำเข้าไปในเขตป่าชายเลน มีซากเปลือกหอยสะสมตัวอย่างหนาแน่นเป็นชั้นหนามากกว่า 7 เมตรครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30x20 ตารางเมตร ทั้งนี้เป็นแหล่งสะสมตัวของซากเปลือกหอยที่ยังขาดข้อมูลศึกษาวิจัยถึงกระบวนการเกิด สมควรสงวนรักษาไว้และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้/แหล่งท่องเที่ยว

พื้นที่แหล่ง เป็นแหล่งสะสมตัวของเปลือกหอย มีลักษณะเป็นเนินต่อเนื่องมาจากพื้นที่สวนยางพาราซึ่งเป็นพื้นที่บกต่อเนื่องมาจากพื้นที่ภูเขาโต๊ะดูซึ่งเป็นภูเขาลูกเล็กๆมียอดสูงสุด 193 เมตรจากระดับทะเล ทั้งนี้ยังไม่มีการสำรวจและตรวจพิสูจน์ชนิดหินของภูเขาลูกนี้ แต่พื้นที่ระหว่างภูเขากับพื้นที่ควนเปลือกหอยพบบ่อหินที่มีการตักนำหินไปเป็นวัสดุก่อสร้าง เป็นชั้นหินโคลน หินดินดานสลับชั้นหินทรายมีลักษณะคล้ายกับหินที่พบที่บ้านควนดินสอ อำเภอทุ่งหว้า เปลือกหอยที่พบมีอย่างน้อย 3 ชนิด ได้แก่ หอยปะ หอยแครง และหอยนางรม ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่เป็นหอยปะ หอยทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวล้วนเป็นหอยสองฝาที่สะสมตัวกันอย่างหนาแน่น มีทั้งที่ฝาหอยทั้งสองประกบกันอยู่และที่หลุดแยกออกจากกัน โดยมีการพบก้อนหินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตรปะปนอยู่ด้วยปะปราย บางบริเวณพบลักษณะเป็นชั้นหอยซ้อนกันอยู่ที่ถูกคั่นด้วยชั้นดินโคลน ทั้งนี้พบว่ากองหอยมีร่องรอยถูกขุด โดยได้รับการบอกเล่าว่า เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน มีการขุดเอาเปลือกหอยไปทำปูนขาว แต่ถูกทางราชการได้สั่งระงับไว้
2.ซากดึกดำบรรพ์บ้านตะโล๊ะไส
ประเภทแหล่ง : ซากดึกดำบรรพ์
ที่อยู่ : บ้านตะโล๊ะไส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล

แหล่งอยู่ห่างจากเหมืองหินร้างแห่งที่ 1 ประมาณ 100 เมตร อยู่ห่างจากถนนสายอำเภอละงู-ท่าเทียบเรือปากบาราขึ้นไปทางตอนเหนือประมาณ 1.1 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ประมาณ 50x50 ตารางเมตร ห่างจากอำเภอละงูเป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร

เป็นพื้นที่เหมืองหินร้างมีหินโผล่และพบซากดึกดำบรรพ์ที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นหมวดหินป่าเสม็ดที่สามารถใช้ศึกษาเปรียบเทียบกับหมวดหินแบบฉบับที่ควนทังได้ แม้จะอยู่บริเวณที่เข้าถึงได้ไม่สะดวกนัก แต่ก็อยู่ห่างจากถนนสายหลักเพียง 1 กิโลเมตร หินโผล่เป็นหินดินดานสีดำสลับหินทรายเนื้อปูน พบแบรคิโอพอด สกุล Spirifer และไบรโอซัว กล่าวได้ว่าหินดังกล่าวเป็นส่วนบนของหมวดหินป่าเสม็ด
3.ถ้ำอุไร
ประเภทแหล่ง : ธรณีสัณฐาน
ที่อยู่ : บ้านอุไร หมู่ 8 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล
พื้นที่แหล่งเป็นเทือกเขาหินปูนลูกโดดๆขนาดเล็กมีลักษณะเป็นภูเขายาวเรียวในแนวเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 600 เมตรและมีความกว้างประมาณน้อยกว่า 100 เมตร เป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันโดยรอบภูเขา ยอดเขาส่วนที่สูงที่สุดประมาณ 90 เมตร ถ้ำอยู่ที่ระดับเดียวกับพื้นดินยาวทะลุจากด้านตะวันตกไปหาด้านตะวันออกในลักษณะอุโมงค์ลอดยาวประมาณ 50 เมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอละงูไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร

มีเรื่องเล่าว่าเมื่อก่อนนี้ บริเวณนี้เป็นทะเลและมีเรือสำเภามาจอด ต่อมากลายเป็นหินรูปเรือสำเภาอยู่ในถ้ำสำเภา มีทรัพย์สินมีค่า ทองคำมากมาย ถูกนำมาเก็บไว้ในถ้ำอุไร ซึ่งคำว่า “อุไร” มีที่มาจากภาษามาเลย์ซึ่งแปลว่า “ทอง” เป็นแหล่งที่มีถ้ำที่สวยงามอยู่ 3 ถ้ำ คือถ้ำอุไรเป็นถ้ำใหญ่ที่สุด เป็นแหล่งที่พบกระดูกมนุษย์โบราณและกระดูกสัตว์ เช่น แรด ม้าลาย จุดที่พบอยู่ห่างถ้ำไปทางทิศเหนือ 25 เมตร มีอายุประมาณ 4-5 พันปี มีถ้ำเล็กๆคือถ้ำสำเภา เป็นแหล่งพบหอยโบราณ และถ้ำลูกสาวที่เป็นแหล่งพบกระดูกสัตว์โบราณ เช่น ฟันกรามแรด กรามหมูป่า กีบควาย หอยน้ำเค็ม หอยโข่ง หอยขมและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นต้น มีเรื่องเล่าว่ารูตรงเสาหินของถ้ำลูกสาวสมัยก่อนชาวบ้านหนีสงครามมาหลบอยู่ในถ้ำแล้วขาดแคลนอาหาร ต่อมามีการทำพิธีขออาหารก็มีอาหารหย่อนลงมา (กรมทรัพยากรธรณี www.dmr.go.th)

กรมทรัพยากรธรณี (www.dmr.go.th) รายงานว่าพื้นที่แหล่งประกอบด้วยหินปูน ประกอบด้วยถ้ำ 3 ถ้ำคือ 1) ถ้ำอุไรเป็นถ้ำที่ลักษณะเปิดออดทั้งสองด้านเป็นลักษณะเหมือนอุโมงค์เป็นถ้ำที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีขนาดประมาณ กว้าง 25 เมตร ยาว 40 เมตร สูง 4 เมตร 2) ถ้ำสำเภา ประกอบด้วยถ้ำสำเภาเหนือมีขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร และสูง 50 เมตรโดยประมาณ และถ้ำสำเภาใต้ มีขนาด กว้าง 20 เมตร ยาว 35 เมตร และสูง 35 เมตรโดยประมาณ พบเสาหินย้อยที่มีลักษณะสวยงาม 3) ถ้ำลูกสาวมีขนาดกว้าง 10 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตรและสูง 5 เมตรโดยประมาณ อยู่ทางทิศเหนือของถ้ำสำเภาประมาณ 15 เมตร อยู่สูงกว่าถ้ำสำเภาประมาณ 10 เมตร

ถ้ำอุไร เป็นถ้ำหินปูน มีพื้นถ้ำอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับระดับพื้นดินภายนอกถ้ำ มีปากถ้ำสองด้านทะลุหากันมีลักษณะคล้ายอุโมงค์วางตัวอยู่ในแนวประมาณ N60E และมีธารน้ำไหลจากปากถ้ำด้านตะวันออกไปออกปากถ้ำทางด้านตะวันตก ถ้ำมีขนาดกว้าง 25 เมตร สูง 4 เมตร และยาวประมาณ 40 เมตร

ภูเขาที่เป็นที่ตั้งของถ้ำอุไร เป็นภูเขาหินปูนลูกโดดๆ มีความสูงสุดของยอดเขาประมาณ 90 เมตรจากระดับทะเล เป็นภูเขาขนาดแคบๆยาวเรียวในแนวเหนือ-ใต้ มีความยาวแนวภูเขาประมาณ 600 เมตรและกว้างประมาณ 100 เมตร พบโครงสร้างรอยเลื่อนหลายแนวสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนบริเวณปากถ้ำทั้งสองด้านและรวมถึงบริเวณเพดานถ้ำบางบริเวณ ระนาบรอยเลื่อนที่วัดได้ได้แก่ 310/21 และ 27/66 บริเวณผนังถ้ำพบลักษณะเป็นร่องลึก (notch) เป็นแนวยาวในแนวระดับขนานไปกับระดับของพื้นถ้ำ ร่องบากดังกล่าวมีลักษณะโค้งมนคล้ายถูกกัดเซาะให้เป็นร่องลึกเข้าไปเรียงขนานกันสังเกตได้ 3 แนวขนานกันไป



บริเวณพื้นถ้ำด้านตะวันตกพบซากเปลือกหอยทะเลหลายชนิด เช่น หอยแครง (Anadara granosa) หอยคราง (Anadara inaequivalvis) หอยกัน (Polymesoda proxima) หอยน้ำพริก (Nerita spp.) และหอยนางรม (oyster) เป็นต้น โดยพบว่าชั้นด้านล่างเป็นพวกหอยนางรมซึ่งส่วนใหญ่เปลือกหอยจะหงายเปลือกฝาขึ้น ขณะที่ชั้นด้านบนที่ปิดทับอยู่เป็นชั้นเปลือกหอยครางขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตรที่ส่วนใหญ่เปลือกหอยจะคว่ำลง การสะสมตัวของเปลือกหอยทะเลเหล่านี้ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากมนุษย์เป็นผู้นำมาบริโภคแล้วทิ้งไว้หรือมากับน้ำทะเล แม้จะกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า ครั้งหนึ่งน้ำทะเลเคยท่วมถึงระดับถ้ำจนคลื่นทะเลซัดจนทำให้ผนังถ้ำเกิดร่องบาก อย่างไรก็ตามมีรายงานการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณถ้ำแห่งนี้4.

4.ทะเลแหวกเกาะหว้าหิน

ประเภทแหล่ง : ธรณีสัณฐาน
ที่อยู่ : เกาะหว้าหิน หมู่ที่ 4 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล

เกาะหว้าหินเป็นเกาะขนาดเล็กจนไม่ปรากฏบนแผนที่ อยู่ห่างจากเกาะลิดีเล็กไปทางตอนเหนือประมาณ 400 เมตร มีขนาดประมาณ 20x40 ตารางเมตร อย่างไรก็ตาม ในช่วงน้ำลงต่ำสุดแผ่นดินจะเชื่อมกับเกาะลิดีเล็ก เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อยู่ห่างจากท่าเทียบเรืออ่าวนุ่นไปทางทิศใต้ประมาณ 6 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือปากบาราไปทางทิศใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร

เกาะหว้าหินเป็นเกาะเล็กๆ ประกอบด้วยหินโคลนและหินทรายที่ต่อเนื่องมาจากหินโคลนและหินทรายที่วางตัวรองรับหินปูนบริเวณเกาะลิดีเล็ก ในช่วงน้ำลงจะมีเนินกรวดโผล่พ้นระดับน้ำทะเลเป็นแนวยาวเชื่อมเกาะทั้งสองที่เรียกว่า ทะเลแหวก (tombolo) ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกตาสามารถเดินข้ามเกาะชมทะเลสุดสายตาและทิวทัศน์ที่สวยงาม

เกาะหว้าหิน ประกอบด้วยชั้นหินโคลนสลับชั้นหินทราย มีชั้นหินทรายหยาบแทรกสลับกับหินดินดานที่มีลักษณะชั้นหินบาง (lamination) พบซากดึกดำบรรพ์ของฟองน้ำบนชั้นหินโคลนทางด้านตะวันตกของเกาะ ชั้นหินวางตัวเอียงเทไปทางทิศตะวันออกด้วยมุมเอียงเท 40 องศา (70/40) บางบริเวณพบรอยแตกหลายทิศทาง บ้างก็แตกถี่ละเอียด รวมถึงโครงสร้างรอยเลื่อนด้วย

เกาะหว้าหินมีลักษณะที่โดดเด่นเคียงข้างเกาะลิดีเล็ก ลักษณะหิน ธรณีวิทยาโครงสร้าง และลักษณะทางธรณีสัณฐานที่ผสมผสานกันในพื้นที่เล็กๆแต่มีเรื่องบอกเล่าได้มากมาย สมควรพัฒนาเป็นแหล่งธรณีวิทยาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประกอบการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

5.นอติลอยด์เขาแดง
ประเภทแหล่ง : ซากดึกดำบรรพ์
ที่อยู่ : บ้านท่าแลหลา หมู่ 2 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล

เขาแดง เป็นภูเขาทอดยาวร่วม 2.5 กิโลเมตรในแนวเหนือ-ใต้ จุดที่สูงที่สุดค่อนไปทางด้านเหนือคือ 236 เมตรจากระดับทะเล แล้วลาดต่ำลงไปทางใต้ พื้นที่แหล่งอยู่บริเวณเชิงเขาด้านตะวันตกของเขาแดง มีลักษณะเป็นพื้นที่กองตะกอนเชิงเขาลาดเอียงไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะทางไปตามแนวเชิงเขาประมาณเกือบ 1 กิโลเมตร ปัจจุบันถูกพัฒนาเป็นพื้นที่สวนยางพาราของนางอรุณี เร๊ะนุ้ย อยู่ห่างจากตัวอำเภอละงูไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร

พื้นที่แหล่ง ติดแนวเชิงเขาแดงอยู่ทางด้านตะวันตก เป็นเทือกเขาที่มีหินสีแดงซึ่งเป็นที่มาของชื่อภูเขา โดยมีลักษณะหินและองค์ประกอบของซากดึกดำบรรพ์ที่อาจใช้เทียบเคียงกับหินในพื้นที่อื่นๆได้

พื้นที่แหล่ง เป็นพื้นที่เชิงเขามีหินก้อนโตๆกองกระจายตัวเป็นพื้นที่กว้างไปตามแนวเชิงเขา ก้อนหินเหล่านี้เป็นหินปูนสีเทาและสีแดงส้ม มีลักษณะเป็นชั้นและมีโครงสร้างสโตรมาโตไลต์อย่างชัดเจน พบหอยกาบเดี่ยวและนอติลอยด์ในเนื้อหินได้ทั่วไป หินปูนพื้นที่นี้มีลักษณะคล้ายหินปูนหมวดหินป่าแก่ที่แผ่กระจายต่อเนื่องมาจากบ้านท่าแร่ที่อยู่ทางด้านเหนือ อย่างไรก็ตามยังไม่ได้รับการยืนยันที่ชัดเจนนัก และเป็นไปได้ว่า หินที่ปิดทับอยู่ด้านบนยอดเขาแดงอาจเป็นคนละหมวดหินกับที่อยู่ด้านล่างเชิงเขา จึงมีความความจำเป็นที่จะต้องทำการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ความชัดเจนแน่นอน

6.น้ำตกวังสายทอง
ประเภทแหล่ง : ธรณีสัณฐาน
ที่อยู่ : บ้านวังนา หมู่ 10 ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล
น้ำตกวังสายทอง อยู่ในเขตอำเภอละงู แต่อยู่ห่างจากอำเภอมะนังประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ติดถนนสายทุ่งนางแก้ว-วังสายทอง ด้านหน้าติดถนนเป็นอาคารหน่วยพิทักษ์ป่าและลานจอดรถ ถัดเข้าไปเป็นสายน้ำที่ได้รับน้ำจากน้ำตก โดยมีการสร้างทางเดินเท้าและสะพานข้ามธารน้ำเพื่อเดินเข้าไปสัมผัสกับน้ำตกที่อยู่ด้านใน พื้นที่โดยรวมประมาณ 100x300 เมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอมะนังไปทางเหนือเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

น้ำตกวังสายทอง ถูกค้นพบโดยชาวบ้านเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2513 เป็นน้ำตกชั้นหินปูนขนาดใหญ่เป็นชั้นน้อยชั้นใหญ่ มีความสวยงามและมหัศจรรย์น่าหลงใหล ซึ่งเป็นน้ำตกหินปูนแห่งแรกในภาคใต้ที่เดินแล้วไม่ลื่น พร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่หาดูได้ยาก เป็นน้ำตกหินปูนที่มีแหล่งน้ำแต่ละชั้นไหลลดหลั่นผ่านชั้นหินปูนสีเหลืองอร่ามดั่งทองเมื่อกระทบกับแสงอาทิตย์ดูงดงามราวกับดอกบัว บริเวณน้ำตกมีต้นไม้สูงใหญ่ร่มรื่น แหล่งน้ำมาจากการอัดและทะลักของน้ำในถ้ำใต้ภูเขาทะลุออกมาตามช่องเขาลงสู่แอ่งต่างๆที่รองรับอยู่บริเวณรอบๆที่ถูกพอกด้วยหินปูนน้ำจืดเป็นทำนบเล็กๆ และเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด แล้วไหลลงสู่คลองละงู

กรมทรัพยากรธรณีรายงานว่า น้ำตกวังสายทองเป็นน้ำตกที่ไหลผ่านชั้นหินปูนขนาดใหญ่ ถือเป็นน้ำตกหินปูนแห่งแรกในภาคใต้ โดยชั้นหินปูนมีสีเหลืองอร่ามดั่งทองเมื่อต้องแสงอาทิตย์ดูงดงามราวกับดอกบัว น้ำตกเกิดจากการไหลของน้ำในถ้ำใต้เทือกเขาบรรทัดออกมาตามช่องเขาลงสู่แอ่งต่างๆที่รองรับทางด้านล่างแล้วไหลลงสู่คลองละงู หินปูนของแนวเทือกเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของน้ำตกนี้ถูกจัดเป็นหินปูนของหมวดหินรังนก

เป็นน้ำตกที่เป็นต้นน้ำไหลผ่านผาหินปูนลดหลั่นเป็นชั้นๆคล้ายขั้นบันได โดยมีการพอกพูนของสารแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เกิดเป็นริ้วสายของปูนน้ำจืดตามการไหลของกระแสน้ำตก (travertine) แต่ละชั้นเป็นขั้นบันไดเกยกันไปมามีระดับความสูงประมาณ 0.5 – 2.0 เมตร และบ้างก็สูงได้ถึง 3.0 – 5.0 เมตร เกิดเป็นอ่างน้ำธรรมชาติเล็กใหญ่ภายใต้ร่มไม้ร่มรื่นลงเล่นน้ำได้อย่างสนุกสนามชื่นใจ โดยในปี พ.ศ. 2519 อาจารย์ปรีชา ขวัญซ้าย จากโรงเรียนบ้านวังสายทองและชาวบ้านจากหมู่ 4 บ้านวังสายทอง และ หมู่ 10 บ้านวังนาใน ได้ร่วมกันพัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยต่อมาในปี พ.ศ. 2531 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดได้เข้ามาเปิดเป็นหน่วยพิทักษ์ป่าและพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบัน

ในพื้นที่ใกล้เคียงกับบริเวณน้ำตก เป็นภูเขาสูงต่ำลดหลั่นแผ่กว้างไพศาล เป็นหินปูนไม่แสดงชั้นและบ้างก็เป็นชั้นหนา บางบริเวณพบพื้นผิวหินโผล่เป็นแบบโครงสร้างหนังช้าง พบลักษณะภูมิประเทศเป็นหน้าผาสูงชันตามลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานซากดึกดำบรรพ์พวกนอติลอยด์และพลับพลึงทะเลบริเวณเขาแดงทางตอนเหนือของน้ำตก อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะระบุถึงตำแหน่งทางการลำดับชั้นหินและชื่อหมวดหินบริเวณพื้นที่น้ำตกและบริเวณใกล้เคียง
7.ลำดับชั้นหินควนทัง
ประเภทแหล่ง : ลำดับชั้นหินแบบฉบับ
ที่อยู่ : บ้านทุ่งเสม็ด ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล

เป็นเนินเขาเตี้ยๆอยู่ทางด้านตะวันตกของถนนสาย 416 ด้านเหนือเป็นที่ต่ำ ถัดลงมาทางตอนใต้เป็นเนินเตี้ยๆเรียกว่า ควนทัง และทางด้านใต้ต่อเนื่องลงไปเป็นพื้นที่ลาดต่ำมีสภาพเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ความกว้างของพื้นที่ในแนวตะวันตก-ตะวันออกประมาณ 80 เมตร ความยาวในแนวเหนือ-ใต้ประมาณ 250 เมตร อยู่จากอำเภอละงูไปทางด้านเหนือเป็นระยะทางประมาณ 9.5 กม.

เป็นพื้นที่แบบฉบับของหมวดหินควนทังที่วางตัวอยู่ทางด้านล่างและมีหมวดหินป่าเสม็ดปิดทับอยู่ด้านบน มีสภาพเป็นเนินที่เป็นเหมืองหินร้างมีหินโผล่ให้ศึกษาชัดเจน พบทั้งซากดึกดำบรรพ์และอยู่ติดถนนหลัก สะดวกในการเข้าถึง

หมวดหินควนทังวางตัวอยู่ด้านล่างของหมวดหินป่าเสม็ดและมีการลำดับชั้นอย่างต่อเนื่องต่อกัน โดยหมวดหินควนทังเป็นหินปูนทั้งหมด ด้านล่างเป็นหินปูนชั้นบางสีเทา ขณะที่ด้านบนเป็นหินปูนชั้นบางสีแดงที่เกิดจากสาหร่าย พบซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์ ได้แก่ Reedops megaphacos, Reedops selenniomma, Comuproetus sculptus, Decoroproetus sp. และPlatyscutellum sp. นอกจากนี้ยังพบโคโนดอนต์ ได้แก่ Polygnathus labiosus, Latericriodus beckmanni และ Polygnathus dehiscens หมวดหินควนทังนี้มีอายุอยู่ในยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน ในภาคสนามพบหินปูนชั้นบางโครงสร้างสาหร่าย (stromatolite) สีเทาของหมวดหินควนทังโผล่ชัดเจนทางตอนเหนือของพื้นที่ แผ่กระจายบริเวณพื้นที่ต่ำขึ้นไปบนพื้นที่เนินที่อยู่ถัดลงไปทางตอนใต้ ในเนื้อหินพบนอติลอยด์ ชั้นหินวางตัวเอียงเทไปทางทิศใต้

ส่วนหมวดหินป่าเสม็ดนั้น ด้านล่างเป็นหินดินดานสีดำมีซากเทนทาคิวไลต์มากมาย ตอนกลางเป็นหินทรายสีน้ำตาลและแดงพบโครงสร้างของตะกอนแบบ Bouma sequence และพบหินกรวดมนมีซากแอมโมไนต์หลายชั้น ตอนบนเป็นหินดินดานสีเทาดำพบแอมโมไนต์และแบรคิโอพอดในช่วงล่าง ซากดึกดำบรรพ์ในหมวดหินป่าเสม็ดนี้ ได้แก่ Nowakia spp., Metastyliolina sp., Striastyliolina sp., Styliolinasp., Viriatellina sp., Echinocoeliopsis sp., Plagiolaria sp., Echinocoelia sp., Monograptus sp., Quasiposserella samedensis, Plectodonta forteyi, Caplinoplia thailandensis และ Clorinda wongwanichi ซึ่งระบุได้ว่าเป็นทะเลลึกในยุคดีโวเนียนตอนต้นถึงตอนกลาง
8.ลำดับชั้นหินบ้านตะโล๊ะไส
ประเภทแหล่ง : หินแบบฉบับ
ที่อยู่ : บ้านตะโล๊ะไส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล



เป็นพื้นที่เหมืองหินร้าง อยู่ห่างจากถนนสายอำเภอละงู-ท่าเทียบเรือปากบาราขึ้นไปทางเหนือเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ประมาณ 50x50 ตารางเมตร อยู่ห่างจากอำเภอละงูเป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร

เป็นพื้นที่เหมืองหินร้างมีหินโผล่และพบซากดึกดำบรรพ์ที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นหมวดหินป่าเสม็ดที่สามารถใช้ศึกษาเปรียบเทียบกับหมวดหินแบบฉบับที่ควนทังได้ แม้จะอยู่บริเวณที่เข้าถึงได้ไม่สะดวกนัก แต่ก็อยู่ห่างจากถนนสายหลักเพียง 1 กิโลเมตร

เป็นเหมืองหินร้างที่เป็นหินโคลนสีเทามีกรวดปน (pebbly mudstone) กรวดมีลักษณะกลมมนดีมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 – 1.5 เซนติเมตร กรวดเป็นหินทรายละเอียดสีขาวประกอบด้วยแร่ควอตซ์ เฟลด์สปาร์ และเชิร์ต กล่าวได้ว่าหินดังกล่าวเป็นส่วนบนของหมวดหินป่าเสม็ด
9.ลำดับชั้นหินเกาะลิดีเล็ก
ประเภทแหล่ง : ลำดับชั้นหินแบบฉบับ
ที่อยู่ : เกาะลิดีเล็ก หมู่ที่ 4 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล



เกาะลิดีเล็กอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะลิดีใหญ่ โดยอยู่ห่างจากเกาะลิดีใหญ่ประมาณ 100-200 เมตร เกาะลิดีเล็กมีขนาดเนื้อที่ประมาณ 0.25 ตารางกิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อยู่ห่างจากท่าเทียบเรืออ่าวนุ่นไปทางทิศใต้ประมาณ 6 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากท่าเทียบเรือปากบาราไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร

เกาะลิดีเล็กเป็นเกาะที่มีขนาดเนื้อที่ประมาณ 0.25 ตารางกิโลเมตร มีภูเขาหินปูน 2 ลูก ลูกด้านตะวันตกมีขนาดใหญ่มียอดสูง 104 เมตร ส่วนลูกด้านตะวันออกมีขนาดเล็กกว่ามากมียอดสูงประมาณ 50 เมตร พื้นที่ระหว่างภูเขาสองลูกเป็นพื้นที่ราบเป็นดินทรายแผ่ออกไปจนเป็นหาดทรายทั้งทางด้านเหนือและทางด้านใต้ บนพื้นที่ราบนี้เป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ภต.2 (เกาะลิดี) และมีหินปูนโผล่เป็นหย่อมเล็กๆ ที่หย่อมหินโผล่หนึ่งพบซากดึกดำบรรพ์ฟิวซูลินิด นอกจากนี้ ยังสามารถเดินเลียบชายฝั่งทะเลรอบภูเขาลูกใหญ่เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ชมหินโผล่ โครงสร้างทางธรณีวิทยา ซากดึกดำบรรพ์ และพืชพรรณป่าไม้ริมทะเลที่ยังคงความสมบูรณ์ ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราได้พัฒนาพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวด้วยการสร้างท่าเทียบเรือและสะพานเดินเท้าเชื่อมไปยังเกาะ จึงถือเป็นสวรรค์กลางทะเลเหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยาแบบเกาะในเขตร้อนชื้น

แม้แผนที่ธรณีวิทยา มาตราส่วน 1: 50,000 ระวางอำเภอละงู (4922 I) ไม่รายงานข้อมูลทางธรณีวิทยาของเกาะลิดี อย่างไรก็ตาม คณะสำรวจธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีนำโดยคุณจิรศักดิ์ เจริญมิตร นักธรณีวิทยา ได้พบซากดึกดำบรรพ์ของฟิวซูลินิดในหินปูนที่เกาะลิดีเล็ก ทำให้หินปูนบนเกาะลิดีเล็กควรมีอายุอยู่ระหว่างยุคคาร์บอนิเฟอรัสถึงยุคเพอร์เมียน ซึ่งถือเป็นหลักฐานหินปูนยุคคาร์บอนิเฟอรัสถึงยุคเพอร์เมียนเพียงแห่งเดียวในจังหวัดสตูลที่ปกคลุมไปด้วยหินปูนยุคออร์โดวิเชียนเป็นส่วนใหญ่

10.ลำดับชั้นหินเขาน้อย
ประเภทแหล่ง : ลำดับชั้นหินแบบฉบับ
ที่อยู่ : บ้านทุ่งเสม็ด หมู่ 11 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล



เป็นหมวดหินป่าแก่และหมวดหินวังตงโผล่ให้เห็นบริเวณสองฝั่งทางสายที่แยกออกจากถนนสาย 416 (ทุ่งหว้า-ละงู) จากบริเวณกิโลเมตรที่ 11 ไปทางทิศตะวันออก อยู่ระหว่าง กม.ที่ 0.5 ไปจนถึงประมาณ กม.ที่ 1.5 รวมพื้นที่แหล่งประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอละงูไปทางเหนือเป็นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร

หมวดหินป่าและหมวดหินวังตงพบวางตัวกันอย่างต่อเนื่อง หมวดหินป่าแก่พบที่ริมทางช่วงบ้านป่าแก่บ่อหิน-บ้านทุ่งเสม็ด ของอำเภอทุ่งหว้า ภายหลังได้ย้ายไปสังกัด ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นหินปูนสีแดงเป็นชั้นๆชัดเจนแทรกสลับด้วยชั้นหินโคลนเป็นชั้นบางมากๆ เมื่อมองด้านหน้าชั้นหินจะเห็นลักษณะคล้ายโครงสร้างรอยระแหงโคลน (mud crack-like structure) แต่หากมองด้านตัดขวางกับชั้นหินจะเห็นเป็นชั้นหนาประมาณ 10-15 เซนติเมตร ด้านบนของชั้นหินเห็นเป็นร่องคล้ายรอยระแหงโคลนในแนวดิ่งลึกลงไปประมาณกลางชั้นหิน ลักษณะหินดังกล่าวมีความโดดเด่นแปลกตาหาดูได้ยากในโลกนี้ แต่กลับพบแผ่กระจายกว้างขวางในพื้นที่จังหวัดสตูล ขณะเดียวกันก็พบหมวดหินวังตงวางตัวทับอยู่ด้านบนด้วยและพบซากดึกดำบรรพ์แกรปโตไลต์ในชั้นหินเชิร์ตด้วย โดยสังเกตเห็นรอยสัมผัสได้อย่างชัดเจน จึงเป็นลักษะเด่นที่สมควรเก็บอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งอ้างอิง

หมวดหินป่าแก่ (Pa Kae Formation) เป็นหมวดหินที่ตั้งชื่อขึ้นโดย ธนิศร์ วงศ์วานิช (Wongwanich and others, 1990) เป็นหมวดหินที่มีความหนา 66 เมตรที่บริเวณพื้นที่แบบฉบับ (type area) ด้านล่างมีความหนา 34 เมตร เป็นหินปูนสีแดงค่อนข้างเป็นชั้นบางจนถึงชั้นบางมากๆมีชั้นเนื้อดินสีแดงเข้มแทรกสลับ พบเศษซากดึกดำบรรพ์ของพลับพลึงทะเลจำนวนมาก มีลักษณะของโครงสร้างสโตรมาโตไลต์ ส่วนด้านบนหนา 32 เมตร โดดเด่นด้วยชั้นหินปูนเนื้อเม็ดปูน (nodular limestone) โดยหมวดหินป่าแก่นี้ถูกปิดทับด้วยหมวดหินวังตงที่ประกอบด้วยหินดินดานสีดำมีแกรปโตไลต์ ช่วงบนมีชั้นหินเชิร์ตแทรกสลับ (Department of Mineral Resources, 2013)

หมวดหินป่าแก่บริเวณพื้นที่แบบฉบับที่บริเวณบ้านทุ่งเสม็ด ของอำเภอละงู (เดิมทีขึ้นอยู่กับตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า) เป็นหินปูนสีแดงเป็นชั้น มีความหนาของชั้นหินประมาณ 10-15 เซนติเมตร ถูกแทรกสลับด้วยชั้นเนื้อดินสีน้ำตาลเข้มเป็นริ้วรูปคลื่นและมีชั้นเนื้อดินเป็นแขนงในแนวตั้งฉากกับชั้นหินยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความหนาของชั้นหิน อย่างไรก็ตามบางบริเวณก็พบชั้นหินปูนมีเนื้อสีเทาด้วย มีการพบซากดึกดำบรรพ์ในหมวดหินป่าแก่ได้ทั่วไป ได้แก่ ไทรโลไบต์ นอติลอยด์ พลับพลึงทะเล และแบรคิโอพอด ซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้มักพบเป็นเศษชิ้นส่วนแตกหักหาชิ้นตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ที่มีสภาพครบถ้วนสมบูรณ์ได้ยาก ทางด้านตะวันตกของพื้นที่แหล่งมีลักษณะเป็นเนินเตี้ยๆมีร่องรอยการทำเหมืองหินมาก่อน พบหินปูนของหมวดหินป่าแก่อยู่ทางด้านบนของเนินที่ชั้นหินมีการวางตัวเอียงเทไปทางทิศใต้ โดยทางด้านใต้ของเนินดังกล่าวมีลักษณะเป็นบ่อเหมืองลึกลงไป พบเป็นชั้นหินดินดาน เชิร์ต และชั้นหินทราย พบซากดึกดำบรรพ์แกรปโตไลต์ในเนื้อหิน ซึ่งลักษณะหินและองค์ประกอบซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวเป็นลักษณะของหมวดหินวังตงที่วางตัวอยู่ทางด้านบนของหมวดหินป่าแก่
11.หินบ้านหาญ
ประเภทแหล่ง : หินแบบฉบับ
ที่อยู่ : เหมืองหิน บ้านหาญ ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล




เป็นภูเขาหินปูนลูกโดดๆขนาดเล็ก ถูกเปิดเป็นเหมืองดินมีหินโผล่ขนาดพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ห่างจากถนนลาดยางประมาณ 100 เมตร มีหินโผล่ของชั้นหินปูน หินทราย และหินควอตไซต์ ที่มีลักษณะหิน การลำดับชั้นหิน และองค์ประกอบของซากดึกดำบรรพ์ อยู่ห่างจากตัวอำเภอละงูไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร

เป็นภูเขาลูกโดดๆขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 91 เมตรจากระดับทะเล มีลักษณะเป็นเหมืองดินมีหินโผล่ เป็นการสลับกันของชั้นหินปูน หินทราย และหินควอตไซต์ ด้านบนเป็นชั้นหินมีเทนตะคิวไลต์ (tentaculite) ทำให้ทราบได้ว่า ชั้นหินเหล่านี้เป็นของหมวดหินควนทัง จึงเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่ช่วยอธิบายการแผ่กระจายของหมวดหินควนทังในพื้นที่ที่แผ่กระจายมาจากหมวดหินแบบฉบับที่บ้านทุ่งเสม็ดที่โผล่ให้เห็นบริเวณเขาหินปูนเล็กๆระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 7-12 เส้นทางสายอำเภอละงู-อำเภอทุ่งหว้า

หินโผล่เกิดจากการขุดลอกนำดินลูกรังออกไปเป็นวัสดุก่อสร้าง พบเป็นชั้นหินปูนสลับกับชั้นหินทรายและหินควอตไซต์ มีการวางตัวของชั้นหินเอียงเทไปทางตะวันออกเฉียงเหนือด้วยมุมเอียงเท 38 องศา (50/38) พบชั้นพลับพลึงทะเล แอมโมนอยด์ มีชั้นเทนตาคิวไลต์สีดำอยู่ด้านบน เป็นหินปูนเป็นชั้น สลับหินดินดานสีดำและหินปูนสีเทาเข้ม ลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะของ “หมวดหินควนทัง”
12.หินสาหร่าย
ประเภทแหล่ง : หินแบบฉบับ
ที่อยู่ : บ้านทุ่งเสม็ด หมู่ 11 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล




เป็นแหล่งหินที่ต่อเนื่องจากแหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับเขาน้อยไปทางตะวันออกเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของถนนสายบ้านทุ่งเสม็ด-บ้านป่าแก่บ่อหินที่แยกออกจากถนนสาย 416 (ทุ่งหว้า-ละงู) ไปทางทิศตะวันออก แหล่งถูกคลุมด้วยอาคารคลุมที่ก่อสร้างด้วยเสาสี่เสาและหลังคาสังกะสี มีขนาดพื้นที่ของแหล่งประมาณ 20x20 ตารางเมตร อยู่ห่างตัวอำเภอละงูไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ 13 กม.

เป็นแหล่งหินปูนชั้นบางโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินมีลักษณะคล้ายจอมปลวกขนาดใหญ่ หินโผล่มีลักษณะเป็นชั้นเรียงซ้อนกันสวยงามดูแปลกตา ตั้งอยู่ในเขตสวนยางพาราที่มีผู้ครอบครองเป็นเจ้าของ โดยเมื่อหลายปีก่อนเจ้าของพื้นที่ได้บนบานต่อหินโผล่นี้หลังจากนั้นได้ถูกรางวัลลอตเตอรี จึงได้สร้างอาคารคลุมไว้และพันด้วยผ้าสีแดงเพื่อเป็นการบวงสวงสักการะสืบต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ จึงถือได้ว่าเป็นแหล่งหินที่อยู่ในเกณฑ์การอนุรักษ์แล้ว

แหล่งหินนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แหล่งหินแบบฉบับของหมวดหินป่าแก่ (Pa Kae Formation) เป็นหมวดหินที่ตั้งชื่อขึ้นโดย ธนิศร์ วงศ์วานิช (Wongwanich and others, 1990) เป็นหมวดหินที่มีความหนา 66 เมตรที่บริเวณพื้นที่แบบฉบับ (type area) ด้านล่างมีความหนา 34 เมตร เป็นหินปูนสีแดงค่อนข้างเป็นชั้นบางจนถึงชั้นบางมากๆมีชั้นเนื้อดินสีแดงเข้มแทรกสลับ พบเศษซากดึกดำบรรพ์ของพลับพลึงทะเลจำนวนมาก มีลักษณะของโครงสร้างสโตรมาโตไลต์ ที่เกิดจากการกระทำของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ทะเลในอดีต ส่วนด้านบนหนา 32 เมตร โดดเด่นด้วยชั้นหินปูนเนื้อเม็ดปูน (nodular limestone) โดยหมวดหินป่าแก่นี้ถูกปิดทับด้วยหมวดหินวังตงที่ประกอบด้วยหินดินดานสีดำมีแกรปโตไลต์ ช่วงบนมีชั้นหินเชิร์ตแทรกสลับ (Department of Mineral Resources, 2013)

แหล่งหิน เป็นหินปูนสีแดง มีลักษณะเป็นชั้นเรียงซ้อนกันวางตัวเอียงเทไปทางทิศใต้ ชั้นหินมีความหนาประมาณ 10-20 เซนติเมตร สังเกตเห็นการสลับกันระหว่างชั้นสีแดงหนากับชั้นสีน้ำตาลเข้มที่บางกว่า ชั้นหินสีแดงเป็นหินปูนทำปฏิกิริยากับกรดเกลือเจือจางอย่างรุนแรง ชั้นหินถูกสึกกร่อนเว้าลึกเข้าไปเป็นแนวยาวขนานไปกับชั้นหิน ขณะที่ชั้นหินสีน้ำตาลเข้มไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำกรด มีความคงทนต่อการกัดกร่อนมากกว่า แสดงเป็นสันนูนสูงขึ้นมา แหล่งหินนี้มีลักษณะหินที่มีความต่อเนื่องมาจากหินปูนหมวดหินป่าแก่ยุคออร์โดวิเชียนตอนบน แต่ทางด้านใต้นอกพื้นที่แหล่งออกไปพบหินลักษณะเดียวกันนี้แต่มีสีเทา ทั้งนี้ ไม่พบซากดึกดำบรรพ์ใดๆในเขตพื้นที่แหล่งนี้
13.หินสาหร่ายท่าแร่
ประเภทแหล่ง : หินแบบฉบับ
ที่อยู่ : บ้านป่าฝาง ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล




พื้นที่แหล่งเป็นลำธารสายเล็กๆขนาดความกว้างประมาณ 6-7 เมตร ไหลจากทิศเหนือลงใต้เป็นระยะทางประมาณ 50 เมตรเลียบขนานไปกับถนนคอนกรีตเสริมเหล็กด้านตะวันตกของบ้านป่าฝาง พื้นที่แหล่งมีหินโผล่ของหมวดหินป่าแก่บริเวณสองฝั่งลำธารรวมถึงขวางแนวลำธาร หมวดหินป่าแก่ที่โผล่ให้เห็นมีความสวยงามโดดเด่นมีการลำดับชั้นสวยงาม หากพัฒนาด้วยการปรับแต่งภูมิทัศน์ที่เหมาะสมและจัดทำป้ายให้ความรู้จะเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอ้างอิงทางธรณีวิทยา อยู่ห่างจากตัวอำเภอละงูไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร

พื้นที่แหล่งเป็นลำธารสายขนาดเล็ก ไหลจากทิศเหนือลงใต้ไหลผ่านด้านตะวันตกของบ้านป่าฝางโดยจะไหลผ่านพื้นที่ป่าชายเลนและไหลลงสู่ทะเลในที่สุด บริเวณลำธารมีหินโผล่ให้เห็นเป็นชั้นหินปูนสีแดงส้มลักษณะเดียวกันกับที่พบในพื้นหินแบบฉบับหมวดหินป่าแก่ที่บ้านทุ่งเสม็ด โดยพบว่าหินโผล่ที่พบนี้พบโผล่เรี่ยไปตามแนวลำธาร โดยพบโผล่แม้ในเขตพื้นที่ป่าชายเลนและรวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณอื่นด้วย ลักษณะดังกล่าวแสดงถึงคุณสมบัติของหินในหมวดหินป่าแก่ที่ผุพังสลายตัวได้ง่ายจึงโผล่พ้นพื้นดินไม่สูงนัก ซึ่งอาจใช้เป็นลักษณะเปรียบเทียบในการศึกษาการแผ่กระจายตัวของหมวดหินป่าแก่

พบหินโผล่เป็นหินปูนสีแดงส้มโผล่ให้เห็นบริเวณลำธารเล็กๆขนาดความกว้างของลำธารประมาณ 6-7 เมตร ประกอบด้วยชั้นหินหนาประมาณ 10-15 เซนติเมตรวางซ้อนเรียงกันมีการวางตัวของชั้นหินเอียงเทไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือด้วยมุมเอียงเท 25 องศา (45/25) ชั้นหินแต่ละชั้นเมื่อสังเกตด้านหน้าชั้นหินจะเห็นโครงสร้างคล้ายรอยระแหงโคลนแบบลายตาข่ายร่างแห ขนาดช่องเปิดตาข่ายประมาณ 3-7 เซนติเมตร เนื้อหินในส่วนของพื้นที่ช่องตาข่ายมีลักษณะเป็นพื้นเรียบเว้าลึกลงไปและทำปฏิกิริยากับกรดเกลือเจือจาง ขณะที่ส่วนรอยต่อระหว่างพื้นที่ช่องตาข่ายมีลักษณะเป็นสันบางนูนขึ้นมามีความหนาประมาณน้อยกว่า 1 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลเข้มและไม่ทำปฏิกิริยากับกรดเกลือเจือจางซึ่งอาจมีส่วนประกอบเป็นพวกเหล็กออกไซด์ (FeO) อย่างไรก็ตามโครงสร้างดังกล่าวพิจารณาได้ว่าเป็นโครงสร้างของสโตรมาโตไลต์ เกิดจากการสะสมตัวของแคลเซียมคาร์บอเนตจากกิจกรรมของสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว ในเนื้อหินปูนดังกล่าวยังพบนอติลอยด์ขนาดใหญ่ด้วย ลักษณะหินดังกล่าวมีลักษณะแบบเดียวกับหินปูนในหมวดหินป่าแก่ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงยุคออร์โดวิเชียนตอนบน
13.เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย
ประเภทแหล่ง : ธรณีวิทยาโครงสร้าง
ที่อยู่ : เขาโต๊ะหงาย ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล




เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงายอยู่ทางด้านใต้ของเขาโต๊ะหงายซึ่งเป็นภูเขาลูกโดดๆห่างจากอำเภอละงูไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ด้วยระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ประมาณ 600x300 ตารางเมตร ด้านเหนือจรดพื้นที่ราบส่วนด้านใต้เป็นหัวแหลมผาชันยื่นออกไปในทะเล ด้านตะวันออกเฉียงเหนือจรดพื้นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

แหล่งมีลักษณะเป็นภูเขาลูกโดดๆต่อเนื่องมาจากพื้นที่ราบทางด้านเหนือที่ยื่นออกไปในทะเลทางด้านใต้มีลักษณะทางธรณีสัณฐานเป็นแบบหัวแหลมผาชัน (headland) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 180,000 ตารางเมตร ด้านเหนือจรดพื้นที่ราบต่ำ ด้านตะวันตก ด้านตะวันออก และด้านใต้ติดทะเล ประกอบด้านยอดเขาสองยอด ยอดด้านเหนือสูง 138 เมตร และยอดด้านใต้สูงประมาณ 90 เมตร พื้นที่ระหว่างยอดเขาทั้งสองลูกเป็นพื้นที่ต่ำแอ่นลงไปที่ระดับความสูงประมาณ 70 เมตร ส่วนล่างของภูเขามีหินทรายสีแดงยุคแคมเบรียนโผล่ให้เห็นชัดเจนทางด้านตะวันตกโดยชั้นหินมีการวางตัวเอียงเทไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือด้วยมุมเอียงเทประมาณ 22 องศา (60/22) มีหินปูนยุคออร์โดวิเชียนวางตัวปิดทับอยู่ด้านบน ทำให้เห็นรอยสัมผัสระหว่างหมวดหินทั้งสองที่มีอายุแตกต่างกัน ประกอบกับทัศนียภาพที่สวยงามของพื้นที่ภูเขาและท้องทะเลสุดลูกหูลูกตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจึงได้สร้างสะพานเดินเท้ารอบภูเขาด้านติดทะเล ซึ่งให้ฉายานามว่า “สะพานข้ามกาลเวลา” และได้มีการจัดพิธีวิวาห์หมู่ข้ามกาลเวลาถือเป็นเรื่องราวที่จะเป็นตำนานต่อไป และถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรณีวิทยา พื้นที่แหล่งนี้จึงเป็นได้ทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ และแหล่งสืบสานประเพณีวิวาห์ข้ามกาลเวลาสืบไป

หินทรายสีแดงที่วางตัวอยู่ด้านล่างของแหล่งเป็นหินส่วนหนึ่งของกลุ่มหินตะรุเตา ยุคแคมเบรียนโดยมีชั้นหินแบบฉบับอยู่บริเวณอ่าวตะโล๊ะโต๊ะโป๊ะ บนเกาะตะรุเตา ซึ่งมีรายงานการพบซากดึกบรรพ์ที่สำคัญๆพวกไทรโลไบต์และแบรคิโพอด อย่างไรก็ตามหินทรายสีแดงบริเวณเขาโต๊ะหงายนี้ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหินตะรุเตาโดยไม่มีรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ดัชนี แต่ก็มีความเป็นไปได้เนื่องจากมันถูกปิดทับโดยหินปูนยุคออร์โดวิเชียน

จากการสำรวจเบื้องต้นในพื้นที่ พบว่าหินทรายสีแดงวางตัวอยู่ด้านล่างหินปูนสีเทาโดยไม่สามารถสังเกตรอยสัมผัสระหว่างกลุ่มหินทั้งสองได้อย่างชัดเจน ยกเว้นบริเวณชายฝั่งด้านทิศใต้ที่พบว่าเป็นรอยสัมผัสแบบรอยเลื่อน (fault contact) ที่เป็นแบบรอยเลื่อนย้อน (reverse fault) ทั้งนี้จากการสำรวจเบื้องต้นในภาคสนามมีการพบซากดึกดำบรรพ์ของแบรคิโอพอดขนาดเล็กในเนื้อหินทรายสีแดง และยังพบนอติลอยด์ในชั้นหินปูนบริเวณใกล้รอยสัมผัสระหว่างกลุ่มหินทั้งสองด้วย

อ้างอิงhttp://www.khoratfossil.org/geopark/contents

4 ความคิดเห็น: